กรมวิทย์ฯ เปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์สารก่อมะเร็ง “เอทิลีนออกไซด์” ที่ตกค้างในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

โดย : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
339
22 เมษายน 2567

 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในต่างประเทศมีข่าวการตรวจพบสารเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) ความเข้มข้นสูงตกค้างในเมล็ดงา บะหมี่กึงสำเร็จรูป และพบในสินค้าอาหารประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้น ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู ได้แจ้งผลการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารภายใต้ระบบเตือนภัยสินค้าอาหาร  (RASFF – Rapid Alert System for for Food and Feed) แก่ประเทศสมาชิกว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารเอทิลีนออกไซด์ในไอศกรีม ซึ่งเกิดการตกค้างในฝักวานิลลาที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตไอศกรีมยี่ห้อหนึ่งกว่า 10 รายการ

 

สารเอทิลีนออกไซด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว ติดไฟได้ ใช้ในการอบฆ่าเชื้อบนอุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ทนต่อความร้อน ใช้เป็นสารรม เพื่อกำจัดแมลง แบคทีเรีย และเชื้อรา โดยมีพิษเฉียบพลันระดับปานกลางในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ และความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ หากร่างกายได้รับสะสมในระยะเวลานาน ก่อให้เกิดการระคายเคืองอย่างสูงต่อดวงตา ผิวหนัง และทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง สลายตัวช้า ทำให้มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันสหภาพยุโรปห้ามใช้สารดังกล่าว ในการฆ่าเชื้อเมล็ดพืชและเครื่องเทศ แต่ยังคงพบว่ามีการใช้งานในบางประเทศ สำหรับประเทศไทยจะต้องตรวจไม่พบการตกค้างในอาหาร หากตรวจพบ อาหารนั้นจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐานตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์และให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้านอาหารของประเทศ จึงได้พัฒนาเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ และเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์สารเอทิลีนออกไซด์ในอาหาร ด้วยเทคนิค Gas Chromatography   Mass Spectrometry (GC-MS) ซึ่งเป็นวิธีตรวจการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช “เอทิลีนออกไซด์”ที่เป็นวิธีมาตรฐานของสหภาพยุโรป EU Reference Laboratory for pesticides requiring Single Residue Methods (EURL-SRM) เพื่อยกระดับการควบคุมคุณภาพและคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่อันตรายต่อสุขภาพ

“ผู้ประกอบการที่มีการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาจำหน่ายในประเทศไทย หากต้องการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร สามารถส่งตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ธัญชาติ และผลิตภัณฑ์ธัญชาติ เพื่อตรวจวิเคราะห์ ได้ที่ศูนย์รวมบริการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ในวันและเวลาราชการ) ในอัตราค่าบำรุงการตรวจวิเคราะห์ 5,000 บาทต่อตัวอย่าง ใช้ระยะเวลาตรวจ และรายงานผลภายใน 20 วันทำการ หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร http://bqsf.dmsc.moph.go.th/bqsfWeb/ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2589 9850 ถึง 7 ต่อ 98150 98152 และ 99968” นายแพทย์ยงยศ กล่าว 

 

ข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวข้อง

https://www.dmsc.moph.go.th/upload/nw/pictures/pic-202502071751446000700753459-6722.jpg
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมจัดนิทรรศการในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 22 โชว์ “ผลิตภัณฑ์สเปรย์ฟิล์มจากสารสกัดกระท่อมแก้ปวดกล้ามเนื้อและลดอักเสบ และแจกกล้าไม้สมุนไพร” ขอเชิญชวนเที่ยวงานและเยี่ยมชมบูธกรมวิทย์ฯ 2-6 ก.ค. นี้ ที่ฮอลล์ 11-12 อิมแพค เมืองทองธานี

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมจัดนิทรรศการในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 22 โชว์ “ผลิตภัณฑ์สเปรย์ฟิล์มจากสารสกัดกระท่อมแก้ปวดกล้ามเนื้อและลดอักเสบ และแจกกล้าไม้สมุนไพร” ขอเชิญชวนเที่ยวงานและเยี่ยมชมบูธกรมวิทย์ฯ 2-6 ก.ค. นี้ ที่ฮอลล์ 11-12 อิมแพค เมืองทองธานี

อ่านต่อ expand_circle_right

แผนผังเว็บไซต์