10 ประเทศอาเซียนร่วมกันผลิตสารมาตรฐานให้มีคุณภาพระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นและลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ประชาชนในภูมิภาคได้รับยาและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพ

โดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
166
16 กรกฎาคม 2568

วันนี้ (16 กรกฎาคม 2568) นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียน ครั้งที่ 17 (The 17th Meeting on the Production of ASEAN Reference Substances) โดยมี เภสัชกรหญิงศิริวรรณ ชัยสมบูรณ์พันธ์ ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด ตัวแทนจากประเทศอาเซียนที่รับผิดชอบงานในโครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียน (ASEAN Reference Substances, ARS) ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรจากสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตริช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี

 


นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักยาและวัตถุเสพติด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าโครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียน (ASEAN Reference Substances, ARS) และในฐานะผู้ผลิตสารมาตรฐานด้านยาแห่งเดียวของประเทศไทยซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17034:2016 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตสารมาตรฐานด้านยา สำหรับใช้ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อลดงบประมาณและประหยัดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อสารมาตรฐานของแต่ละประเทศ โดยมีบทบาทในการเป็นผู้วางแผน เพื่อกำหนดกิจกรรมในแต่ละปีของโครงการ ติดตามความก้าวหน้าของงาน รวมถึงการประสานงานและร่วมแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสอดคล้องกัน ในกลุ่มประเทศสมาชิก และเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพของสารมาตรฐานอาเซียนภายใต้การผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล

 




ทั้งนี้ สารมาตรฐาน คือสารที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบกับสารที่ต้องการตรวจสอบเพื่อหาปริมาณตัวยาสำคัญ หรือตรวจเอกลักษณ์ หรือหาความบริสุทธิ์ของสาร สารมาตรฐานด้านยามีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมคุณภาพยาและเภสัชภัณฑ์ เนื่องจากวิธีวิเคราะห์ต่างๆ ทั้งวิธีทางเคมีฟิสิกส์และชีววิทยาที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพยาส่วนใหญ่ ต้องใช้สารมาตรฐานเป็นตัวเปรียบเทียบ นอกจากนี้ยังใช้สารมาตรฐานในการพัฒนาและทดสอบของวิธีวิเคราะห์และใช้ในการสอบเทียบเครื่องมือ

 












นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้เชิญตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกที่รับผิดชอบงานในโครงการนี้ เพื่อรายงานความคืบหน้าของงานในโครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียน ร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น จากการดำเนินงาน และวางแผนการดำเนินงานของโครงการในอนาคต รวมถึงพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตสารมาตรฐานอาเซียนให้สอดคล้องกันภายในกลุ่มประเทศสมาชิก การพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตสารมาตรฐานอาเซียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล โดยได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านข้อกำหนดทั่วไปสำหรับความสามารถของผู้ผลิตวัสดุอ้างอิง และระบบคุณภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตวัสดุอ้างอิง เช่น  ISO 17034:2016

 


โครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียน  เกิดจากความร่วมมือกันของสมาชิกในกลุ่มอาเซียนรวม 10 ประเทศ ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาและปรับปรุงระบบการดำเนินงานผลิตสารมาตรฐานอาเซียนให้สอดคล้องกับระดับสากล ทำให้สารมาตรฐานอาเซียนที่ผลิตได้มีคุณภาพสามารถแบ่งปันกันใช้ภายในประเทศสมาชิก ลดต้นทุนในการนำเข้าสารมาตรฐานจากต่างประเทศ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อสารมาตรฐานของแต่ละประเทศต่อปีเป็นเงินจำนวนมากแล้ว ส่งผลให้ประชาชนในระดับภูมิภาคได้รับยาและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อสุขภาพในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยา รวมทั้งงานวิจัยและพัฒนาด้านยาทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน”นายแพทย์ยงยศ กล่าว 

*** 16 กรกฎาคม 2568 ***

 

ข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวข้อง

https://www.dmsc.moph.go.th/upload/nw/pictures/pic-202502071751446000700753459-6722.jpg
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมจัดนิทรรศการในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 22 โชว์ “ผลิตภัณฑ์สเปรย์ฟิล์มจากสารสกัดกระท่อมแก้ปวดกล้ามเนื้อและลดอักเสบ และแจกกล้าไม้สมุนไพร” ขอเชิญชวนเที่ยวงานและเยี่ยมชมบูธกรมวิทย์ฯ 2-6 ก.ค. นี้ ที่ฮอลล์ 11-12 อิมแพค เมืองทองธานี

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมจัดนิทรรศการในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 22 โชว์ “ผลิตภัณฑ์สเปรย์ฟิล์มจากสารสกัดกระท่อมแก้ปวดกล้ามเนื้อและลดอักเสบ และแจกกล้าไม้สมุนไพร” ขอเชิญชวนเที่ยวงานและเยี่ยมชมบูธกรมวิทย์ฯ 2-6 ก.ค. นี้ ที่ฮอลล์ 11-12 อิมแพค เมืองทองธานี

อ่านต่อ expand_circle_right

แผนผังเว็บไซต์