กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนค้นหาเชิงรุกมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก “ทุกภาคส่วนร่วมใจ สู้ภัยจากมะเร็ง” เพื่อสนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุข
วันนี้ (17 กรกฎาคม 2568) นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมกิจกรรมรณรงค์การค้นหาเชิงรุกมะเร็งเต้านม ด้วยการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 และการค้นหาเชิงรุกมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจคัดกรอง HPV DNA Test โดยการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง โดยมี นายแพทย์ภุชงค์ ชื่นชม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน นายแพทย์กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน ผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยากร แพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ บุคลากรจากเขตสุขภาพที่ 1 โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงฯ จำนวน 200 คน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมพญาภูคา โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน
นายแพทย์วัชรพงษ์ กล่าวว่า มะเร็งในสตรีที่พบมากในประเทศไทย คือ มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ซึ่งปัจจุบันการตรวจมะเร็งเต้านมสามารตรวจการกลายพันธุ์ของยีน ช่วยให้ทำนายการเกิดโรคได้แม่นยำ และสำหรับมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจคัดกรอง ด้วยวิธี HPV DNA Test โดยการเก็บตัวอย่างส่งตรวจด้วยตนเอง ลดความเขินอายจากการขึ้นขาหยั่ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความสำคัญกับโรคมะเร็ง จึงได้ร่วมมือกับ กรมการแพทย์ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จัดทำ Model development การทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน อย่างไร้รอยต่อและเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้นหาเชิงรุกมะเร็งเต้านม ด้วยการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 และการค้นหาเชิงรุกมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจคัดกรอง HPV DNA Test โดยการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง สนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุข
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ด้วยเทคโนโลยี Next-Generation Sequencing (NGS) เป็นเทคนิคทางอณูชีวโมเลกุล เพื่อการวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยพบว่ากลุ่มผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 80 มะเร็งรังไข่ร้อยละ 60-70 และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง โดยวิธี HPV DNA Test เป็นการตรวจในระดับโมเลกุลที่มีความถูกต้อง แม่นยำและมีความไวที่สูงกว่าการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ หรือมากกว่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก อาทิ สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ที่พบเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงเพิ่มทางเลือกให้สตรีไทย กลุ่มเป้าหมายอายุ 30-60 ปี ที่ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองให้สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายขึ้น โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) โดยมีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ให้บริการทั่วประเทศในทุกเขตสุขภาพ ภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นายแพทย์วัชรพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า การประชุมนี้จะใช้เวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2568 โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี เพื่อร่วมกันค้นหาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม และญาติสายตรงที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ให้ได้รับการปรึกษาทางพันธุกรรม การตรวจการกลายพันธุ์ของยีนเพื่อลดโอกาสเกิดมะเร็งและการค้นหาเชิงรุกการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นนโยบายสำคัญของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการเป็นเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมสำหรับโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และประยุกต์ใช้กับโรคอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่และการดำเนินงานเครือข่ายจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ ในการพัฒนาการตรวจทางพันธุกรรมในอนาคตจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น
17 กรกฎาคม 2568