1. เลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจ มีฉลากระบุสถานที่ผลิตวัน เดือน ปี เลขสารบบอาหารที่ชัดเจน และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรูปร่างและรสชาติที่เหมือนเนื้อสัตว์มากเกินไป
2. ผักสด/ผลไม้สดควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานหรือนำมาปรุงอาหาร โดยการเคาะเศษดิน ปอกเปลือกหรือตัดส่วนที่ไม่รับประทานออก แล้วนำไปล้าง
3. วิธีง่ายๆ ล้างผักผลไม้ลดสารพิษตกค้าง
(1) ล้างด้วยน้ำธรรมดาไหลผ่าน เพียงแช่ผักในน้ำจากนั้นเปิดน้ำ ไหลผ่านแรงพอประมาณ และคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที
(2) ล้างด้วยน้ำส้มสายชู โดยแช่ผักผลไม้ในน้ำ ผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 10 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
(3) ล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต โดยใช้ผงฟูหรือเบกกิ้งโซดา ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้น ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับการตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารเจ
ในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2566) สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สด เพื่อตรวจเฝ้าระวังการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งในตัวอย่างที่ส่งมาตรวจวิเคราะห์มีผักที่นิยมบริโภคช่วงเทศกาลเจ ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กวางตุ้ง หัวไชเท้า แครอท เห็ด ส้ม แอปเปิ้ล องุ่น ฝรั่ง สาลี่ จำนวนตัวอย่างทั้งหมด 144 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า ไม่พบการตกค้าง คิดเป็นร้อยละ 81.9 พบการตกค้าง แต่ไม่เกินค่ากำหนดตามพระราชบัญญัติอาหาร คิดเป็นร้อยละ 11.8 และพบการตกค้างเกินค่ากำหนดตามพระราชบัญญัติอาหาร คิดเป็นร้อยละ 6.2 โดยผักและผลไม้สดที่พบการตกค้างสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐานกำหนด ได้แก่ คะน้า และส้ม
นอกจากนี้ได้มีการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ (หมู ไก่ วัว ปลา) ในตัวอย่างอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ ได้แก่ อาหารพร้อมบริโภค ไส้กรอก ลูกชิ้น เป็นต้น จำนวน 14 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ทุกตัวอย่าง โดยทุกตัวอย่างเป็นตัวอย่างที่มีฉลากระบุสถานที่ผลิต เลขสารบบอาหาร วันเดือนปีผลิตชัดเจน